วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555


นวัตกรรมทางการศึกษา

                นวัตกรรมที่นำมาใช้ทางการศึกษาในปัจจุบันมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีแปลกใหม่ให้แตกต่างไปจากการนั่งฟังบรรยายหรือทำกิจกรรมตามที่ครูผู้สอนกำหนดให้  นวัตกรรมการศึกษาจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเลือกวิธีเรียนด้วยตนเอง  เมื่อจบบทเรียนแต่ละตอนก็จะสามารถประเมินผลการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง  เช่น  บทเรียนโปรแกรม
ชุดการสอน  ศูนย์การเรียน  การสอนแบบจุลภาค  การสอนเป็นคณะ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน การศึกษาผ่านอินเตอร์เน็ต   การเรียนการสอนแบบอี เลอร์นิ่ง  ซึ่งแต่ละชนิดมีรายละเอียดดังนี้


บทเรียนโปรแกรม 

                คำว่า บทเรียนโปรแกรม”  ที่ใช้อยู่ในวงการศึกษามีความหมายตรงกับภาษาต่างประเทศหลายคำ เช่น  Instructional Program, Automated  Instruction, Auto – Instructional Programming, Self – Teaching และ Self – Instructional  Programmed  เป็นต้น
                ดร.เปรื่อง  กุมุท  กล่าวไว้ในหนังสือเทคนิคการเขียนบทเรียนโปรแกรม ( 2519 หน้า 134 ) ว่า บทเรียนโปรแกรม หมายถึงการลำดับประสบการณ์ที่จัดวางไว้สำหรับนำผู้เรียนไปสู่ความ สามารถโดยอาศัยหลักความสัมพันธ์ของสิ่งเร้ากับการตอบสนองซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพและได้อธิบายเพิ่มเติมว่า
                “ประสบการณ์”  เน้นถึงการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในขบวนการเรียนให้มากที่สุด
                “ลำดับที่จัดวางไว้”  แสดงถึง  การจัดลำดับต่อเนื่องของเนื้อหา  อย่างมีหลักเกณฑ์
                “นำไปสู่ความสามารถ คือสามารถบรรลุจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรมที่ระบุว่าจะทำอะไรได้ บ้างทำได้ดีเพียงใด
                “หลักความสัมพันธ์ของสิ่งเร้ากับการตอบสนอง”  แสดงว่าบทเรียนเขียนขึ้นโดยคำนึงถึง
ความสัมพันธ์ของสิ่งเร้ากับการตอบสนอง
                “ประสิทธิภาพคือได้ผ่านการทดลองและปรับปรุงแก้ไข  จะมีคุณภาพถึงเกณฑ์มาตรฐานที่ผู้เรียนเรียนแล้วสามารถแสดงออกมาให้เราทราบได้ว่าเขาบรรลุความสามารถที่ต้องการ
                บทเรียนโปรแกรมที่ดีจะต้องเรียบเรียงข้อคำถามให้เกี่ยวข้องกับคำอธิบายที่ให้ไว้ก่อนและ
คำถามข้อต่อไปก็ต้องมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับคำถามก่อนหน้าเสมอ  ทั้งต้องพยายามย้ำความเข้าใจความแม่นยำของผู้เรียนตลอดเวลาโดยใช้วิธีการต่าง ๆ หลาย ๆ วิธี  เพื่ออธิบายให้เข้าใจเรื่องราวแต่ละตอนอย่างแจ่มชัด
            1.   คุณค่าของบทเรียนโปรแกรม

                บทเรียนโปรแกรมมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ดังนี้
       1.1    สนองความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคล
       1.2    ผู้เรียนมีโอกาสเรียนด้วยตนเองตามความสามารถโดยไม่ต้องมีครูสอน
       1.3    ผู้เรียนมีอิสระในการเรียนไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่
       1.4    บทเรียนโปรแกรมที่ดีจะทำให้ผู้เรียนตอบสนองทันทีอยู่ตลอดเวลา
       1.5    ช่วยกระตุ้นหรือเสริมแรงผู้เรียนไปสู่ความสำเร็จอย่างภาคภูมิใจ

2.   พื้นฐานทางจิตวิทยาของบทเรียนโปรแกรม

                     ทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เป็นพื้นฐานของการสร้างบทเรียนโปรแกรมเป็นทฤษฎีแนวพฤติกรรมนิยม  ที่สำคัญคือ  ทฤษฎีการวางเงื่อนไข (S – R  Theory) ของธอร์นไดค์ (Thorndike) และทฤษฎีการเสริมแรง (reinforcement) ของสกินเนอร์ (Skinner) ทฤษฎีเหล่านี้เชื่อว่าพฤติกรรมที่เกิดจากการที่อินทรีย์ทำกิจกรรมโดยมีเจตนา เป็นพื้นฐานในการแสดงออกมาอาจเป็นได้ทั้งพฤติกรรมทางสมอง (cognitive) กล้ามเนื้อ (psychomotor) และความรู้สึก (effective)  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่างๆต้องอาศัยขบวนการวางเงื่อนไข”  ซึ่งถือเอาความสัมพันธ์ของสิ่งเร้าการตอบสนอง ( S – R ) เป็นหลักในการเรียนการสอน ทฤษฎีการเรียนรู้นี้จึงเป็นพื้นฐานหรือที่มาของการสร้างสื่อการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ เช่น  คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (computer - assisted instruction : CAI) บทเรียนทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (E – learning) เป็นต้น  การสร้างหรือการใช้สื่อการเรียนรู้แบบบทเรียนโปรแกรม ครูจำเป็นต้องจัดให้นักเรียนได้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่กำหนด ให้โดยมีกระบวนการดังนี้
       2.1    เสนอสิ่งเร้าแก่ผู้เรียน เช่น  เนื้อหาบทเรียน  กิจกรรมต่าง ๆ
       2.2    หาวิธีช่วยให้ผู้เรียนสนองได้อย่างเหมาะสม  เช่น  การบอกใบ้ (cueing)
       2.3    เมื่อผู้เรียนตอบสนองได้แล้วต้องเสริมแรงข้อสนองตอบนั้นในทันที
การเสริมแรงเป็นการทำให้การสนองตอบของผู้เรียนมีความหมายและเป็นไปตามที่ผู้สอน
ปรารถนาทุกครั้งที่เขาพบสิ่งเร้าที่กำหนดให้  การเสริมแรงจึงเป็นเสมือนรางวัลสำหรับผู้เรียนทำให้ผู้เรียนมีกำลังใจในการเรียนรู้ต่อไป

            3.   ชนิดของบทเรียนโปรแกรม

                       บทเรียนโปรแกรมแบ่งตามลักษณะและวิธีการเขียนเป็น 2 ชนิด คือ

                       3.1   บทเรียนโปรแกรมแบบเส้นตรง  (Linear Programmed)

                                เป็นบทเรียนตามแบบของสกินเนอร์ บทเรียนชนิดนี้บังคับไปในตัว ให้ผู้เรียนทุกคนเรียนผ่านกรอบของบทเรียนทุก กรอบตั้งแต่กรอบที่หนึ่งไปจนถึงกรอบสุดท้ายตามลำดับ 

3.2  บทเรียนโปรแกรมแบบสาขา (Branching Programmed)

                                เป็นบทเรียนโปรแกรมอีกลักษณะหนึ่งที่สร้างขึ้นครั้งแรกโดยคราวเดอร์ (Norman A.  Crowder)    บทเรียนแบบนี้ต่างจากแบบแรกตรงที่ผู้เรียนแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเรียนผ่านทุกกรอบ     กรอบของบทเรียนแบบสาขามี  2  ประเภทคือ  กรอบยืน”  กับ  กรอบสาขา
                                กรอบยืน  หรือกรอบหลัก  เป็นกรอบที่ทุกคนต้องเรียนผ่าน  ในกรอบนี้จะมีความรู้และเนื้อหาสำคัญอยู่แล้ว ส่วนคำถามแบบเลือกตอบจะมีไว้ในตอนท้ายให้ผู้เรียนเลือก  ถ้าผู้เรียนเลือกถูกก็จะได้ไปเรียนในกรอบยืนกรอบต่อไป แต่ถ้าเลือกผิดก็จะได้ไปเรียนที่กรอบสาขา ซึ่งเป็นกรอบสำหรับเสริมและแก้ไขความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้อง   บางครั้งก็ให้การฝึกฝนเพิ่มเติมด้วยในกรอบสาขาจึงไม่มีเนื้อหาและความรู้ใหม่ ๆ แต่อย่างใด
                                บทเรียนโปรแกรมแบบสาขาเป็นบทเรียนที่เหมาะสมกับการใช้สอนในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา   การวิเคราะห์  และเรื่องที่มีคำตอบให้เลือกหลาย ๆ  ทาง



ตัวอย่างบทเรียนโปรแกรมแบบสาขา
เรื่องการขยายตัวของโลหะ

1.     ในฤดูร้อนเราจะสังเกตเห็นสายโทรเลขซึ่งทำด้วยทองแดงหย่อนมาก  
ระหว่างเสาต้นหนึ่ง ๆ แต่ในฤดูหนาวสายทองแดงเส้นเดียวกันกลับขึงตึง
 และมีความยาวน้อยลงกว่าเดิม  แสดงให้เห็นว่าลวดทองแดงมีความยาว
ผันแปรตามฤดูกาล   ความยาวของลวดทองแดงเปลี่ยนแปลงเพราะเหตุใด
ก. ในฤดูร้อนมีฝนตกบ่อยๆ น้ำหนักและความแรงของน้ำฝนทำให้ สายลวดทองแดงยืด
ข. ในฤดูร้อนลมพัดแรงทำให้สายลวดทองแดงยืด
ค. การเปลี่ยนอุณหภูมิระหว่างฤดูร้อนและฤดูหนาาวเป็นผลให้ความยาวของลวดทองแดงเปลี่ยน

                                                                                ถ้าตอบข้อ ก. ให้พลิกไปกรอบที่ 2
                                                                                ถ้าตอบข้อ ข. ให้พลิกไปกรอบที่ 3
                                                                                ถ้าตอบข้อ ค. ให้พลิกไปกรอบที่ 4
2.   ท่านตอบว่าน้ำหนักของฝนในฤดูฝนทำให้สายลวดหย่อน  ที่จริงสายลวดหย่อน
      เพราะน้ำหนักขอสิ่งใด ๆ ก็ได้  แต่กรณีของหยดน้ำฝนเล็ก ๆ คงไม่ทำให้ลดหย่อน  
      จนสังเกตได้หรอกขอให้กลับไปอ่านกรอบที่  1  อีกครั้งแล้วพิจารณาเลือกคำตอบใหม่
3.   ท่านตอบว่าความแรงของลมในฤดูร้อนทำให้เส้นลวดยืดได้  ที่จริงแล้วแรงลม
       ที่พัดปะทะเส้นลวดทองแดงลมไม่น่าจะทำให้ลวดขยายตัวจนมองเห็นได้
       โปรดกลับไปพิจารณาเลือกคำตอบในหรอบที่ 1  ใหม่อีกครั้ง  เชื่อว่า   
        ท่านคงจะตอบได้แน่นอน
4.  คำตอบของท่านถูกต้อง  การเปลี่ยนแปลงความยาวของลวดทองแดงขึ้นอยู่กับการ
      เปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ  ลวดทองแดงและโลหะอื่น ๆ เช่น  เหล็ก  อลูมิเนียม  ทองคำ
       เงิน  จะขยายตัวเมื่อได้รับความร้อนและหดตัวเมื่อได้รับความเย็น
       การขยายตัวของโลหะจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตัวประกอบ 2 อย่าง คือการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิชนิดของโลหะ
โปรดศึกษาต่อในกรอบที่ 5 …… (ยังไม่จบ)
4.   ข้อดีและข้อจำกัดของบทเรียนโปรแกรม

      

       บทเรียนโปรแกรมมีข้อดีและข้อจำกัดหลายประการดังนี้

       4.1   ข้อดี
                4.1.1    นักเรียนมีโอกาสเรียนด้วยตนเองคล้ายกับการเรียนที่มีครูสอนตัวต่อตัว
                4.1.2    ถ้านักเรียนตอบผิดก็สามารถแก้ไขความเข้าใจผิดได้ทันที  ถ้าตอบถูกก็มีการเสริมแรงให้เกิดกำลังใจ
                4.1.3    สนองความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ดี
                4.1.4    แก้ปัญหาการขาดแคลนครู และใช้สอนซ่อมเสริมได้ดี
                4.1.5    ผู้เรียนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี  คือได้ร่วมทำกิจกรรมได้รับคำตอบทันท่วงที   มีโอกาสเกิดความภาคภูมิใจและเรียนไปทีละน้อยตามลำดับขั้น

      4.2   ข้อจำกัด
                4.2.1    ไม่เหมาะสำหรับการสอนเนื้อหาวิชาที่ต้องการการตอบสนองในแง่ของความคิด  เช่นการเรียงความ  หรือเนื้อหาที่เกี่ยวกับความคิด สร้างสรรค์
                4.2.2    เด็กเก่งอาจเรียนได้เร็ว  และมีเวลาว่างมากจนอาจทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายได้
                4.2.3    ไม่ค่อยส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เพราะองค์ความรู้และรูปแบบการเรียนรู้เป็นไปตามที่ครูกำหนดเท่านั้น
                4.2.4    ผู้เรียนขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นเพราะรับผิดชอบเฉพาะงานของตน
                4.2.5    ไม่อาจใช้แทนครูได้อย่างสิ้นเชิง

ชุดการสอน

                ชุดการสอน (Instructional Package) คือชุดของสื่อหลาย ๆ ชนิดหรือที่เรียกว่าสื่อประสม  (multi-media)  ที่จัดไว้เป็นกล่องหรือซองตามลักษณะของเนื้อหาวิชา   เพื่อรวบรวมเอาสาระและประสบการณ์ต่าง ๆ สำหรับช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            1.   ทฤษฎีที่ก่อให้เกิดชุดการสอน

                       จากการเปลี่ยนแปลงแนวคิดทางการศึกษาหลาย ๆ ด้าน เช่น  แนวคิดเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล  ความพร้อม  การขยายตัวของวิชาการ  อัตราการเพิ่มของประชากรและความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา  ทำให้วิธีการในการจัดการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
                       สื่อการสอนต่าง ๆ ได้เข้ามามีบทบาทในการให้การศึกษามากยิ่งขึ้น  ชุดการสอนจัดเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่นำมาใช้เพื่อสนองแนวคิดทางการศึกษาดังกล่าวให้บรรลุผล ทฤษฎีที่ก่อให้ เกิดชุดการสอนมีหลายทฤษฎีที่สำคัญคือ
                     1.1   การใช้สื่อประสม  แนวโน้มใหม่ของการผลิตสื่อการสอน คือการจัดระบบการผลิตสื่อการสอนหลายอย่างมาผสมผสานกันอย่างเหมาะสมเพื่อใช้สอนในเนื้อหาบทเรียนเดียวกัน เพื่อให้เป็นแหล่งความรู้และประสบการณ์หลาย ๆ ด้านแก่ผู้เรียน
                        1.2 การใช้กระบวนการกลุ่มสัมพันธ์  การเรียนการสอนในปัจจุบันผู้เรียนมีโอกาสประกอบกิจกรรมและศึกษาด้วยตนเองมากขึ้น กระบวนการกลุ่มสัมพันธ์วิธีหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมเป็นกลุ่มควบคู่ไปด้วย
                        1.3   การใช้หลักจิตวิทยาการเรียนรู้มาจัดสภาพในการเรียนรู้มีลักษณะสำคัญ  4 ประ การ คือ
           1.3.1ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมด้วยตนเอง
           1.3.2มีโอกาสทราบว่าคำตอบของตนเองถูกต้องหรือไม่
           1.3.3มีการเสริมแรงให้เกิดความภูมิใจและอยากทำซ้ำอีก
           1.3.4ค่อยเรียนรู้ไปทีละน้อยตามลำดับขั้น





2.   ประเภทของชุดการสอน

       ชุดการสอนที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันมี 3 ประเภทคือ
       2.1  ชุดการสอนประกอบคำบรรยาย  เป็นชุดการสอนสำหรับให้ครูใช้ประกอบการบรรยายเพื่อสอนนักเรียนเป็นกลุ่มใหญ่   ประกอบด้วยสื่อการเรียนต่าง ๆ เช่น สไลด์   ฟิล์มสตริป  รูปภาพภาพยนตร์   แผนภูมิ   แผนที่    บางทีก็เรียกว่าชุดการสอนสำหรับครู
                    2.2    ชุดการสอนแบบกลุ่มเล็กหรือชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน  ใช้ประกอบกิจกรรมของผู้เรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เช่น  ในศูนย์การเรียน  ชุดการสอนแบบนี้จะมีสื่อต่าง ๆ ไว้ให้สมาชิกในกลุ่มได้ประกอบกิจกรรมตามบัตรคำสั่ง
       2.3    ชุดการสอนรายบุคคล  ใช้สำหรับให้ผู้เรียนเรียนด้วยตนเองตามความสะดวกและความสนใจของตนเอง  จึงนิยมเรียกว่า  ชุดการเรียน

            3.   องค์ประกอบของชุดการสอน

                ในชุดการสอนแต่ละชุดจะมีองค์ประกอบทั่วไปเหมือนกัน คือ

                       3.1   คู่มือครู   คู่มือครูเป็นคู่มือและแผนการสอนสำหรับครูหรือผู้ใช้ชุดการสอน  ภายในคู่มือจะชี้แจงวัตถุประสงค์และวิธีการใช้ชุดการสอน  การเตรียมตัว  บทบาทของครู  บทบาทของผู้เรียนการจัดชั้นเรียนและเนื้อหาสาระโดยย่อ  เพื่อเป็นแนวทางให้สามารถปฏิบัติได้ถูกต้องตามขบวนการ
                       3.2   บัตรคำสั่ง    เป็นบัตรมอบหมายงานเพื่อให้ผู้เรียนประกอบกิจกรรมแต่ละอย่างตามลำดับขั้น  โดยเฉพาะในชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน
                        3.3   เนื้อหาหรือประสบการณ์ ได้แก่  บทเรียนที่อยู่ในรูปของสื่อการสอนต่าง ๆ บรรจุไว้ในชุดการสอน เช่น บัตรคำ  บัตรเนื้อหา   บทเรียนโปรแกรม  เทปบันทึกเสียง  สไลด์  ภาพยนตร์  หุ่นจำลอง  รูปภาพ  เป็นต้น
                        3.4   แบบประเมินผล  เป็นแบบทดสอบสำหรับให้ผู้เรียนประเมินความก้าวหน้าของตนโดยเปรียบเทียบจากการทดสอบก่อนเรียนกับหลังจากเรียนจบหน่วยการสอนแล้ว  แบบทดสอบอาจใช้วิธีเติมคำ  เลือกคำตอบ  จับคู่  หรือบันทึกผลจากกิจกรรมก็ได้



            4.   ประโยชน์ของชุดการสอน

                       ชุดการสอนมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนดังนี้
       4.1   เร้าความสนใจของผู้เรียน เพราะผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียน
       4.2   เรียนได้ตามความสามารถและความพอใจของผู้เรียน
       4.3   การเรียนรู้เป็นอิสระจากอารมณ์ของครู
       4.4   ขจัดปัญหาในการขาดแคลนครู
       4.5   สนับสนุนการศึกษานอกระบบโรงเรียน
       4.5   แก้ปัญหาความแตกต่างระหว่างบุคคล
       4.6   เป็นสื่อหลักในศูนย์การเรียน
       4.7   ผู้เรียนสามารถรับทราบผลความก้าวหน้าของตนเอง

ศูนย์การเรียน

                ศูนย์การเรียน(Learning Center)เป็นสถานที่ที่จัดบรรยากาศและประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองโดยอาศัยโปรแกรมการสอนและสื่อประสมที่จัดไว้ในรูปของสื่อการสอน มีครูเป็นที่ปรึกษา  ช่วยประสานงานและควบคุมโปรแกรมการเรียนของผู้เรียน

            1.   แนวคิดในการจัดศูนย์การเรียน

                แนวคิดในการจัดศูนย์การเรียนเป็นการประยุกต์ทฤษฎีทางจิตวิทยาหลายทฤษฎีเข้าด้วยกัน  โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้  ประการคือ   การให้ผู้เรียนลงมือทำกิจกรรมด้วยตนเอง   ให้ได้รับทราบผลการกระทำในทันที  ให้มีโอกาสเกิดความภาคภูมิใจและให้เรียนไปทีละน้อยตามลำดับขั้น   นอกจากนั้นยังรวมเอาวิธีการของกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์  การใช้ สื่อประสมและคำนึงถึงความพร้อมของผู้เรียนอีกด้วย

            2.   ประเภทของศูนย์การเรียน

                       ศูนย์การเรียนมีหลายประเภท  ที่พบเห็นทั่วไปได้แก่
        2.1    ศูนย์การเรียนในห้องเรียน  เป็นการจัดศูนย์การเรียนอย่างง่าย โดยทำเป็นศูนย์วิชาการต่าง ๆ ไว้ตามผนังหรือมุมห้อง เช่น ศูนย์คณิตศาสตร์  ศูนย์วิทยาศาสตร์ ศูนย์ภาษาไทยฯลฯ  ในแต่ละศูนย์จะมีสื่อการสอน  และใบงานไว้ให้ผู้เรียนได้ศึกษาและทำกิจกรรมแล้วประเมินผลการเรียนของตนเองได้ทันที แต่ในสภาพปัจจุบันศูนย์การเรียนแบบนี้ยังเป็นเพียงมุมวิชาต่าง ๆ ที่มีเฉพาะสื่อการเรียน แต่ไม่มีโปรแกรมการเรียนสำหรับช่วยให้ผู้เรียนศึกษาด้วยตนเองได้อย่างมีประ สิทธิภาพ
      2.2    ศูนย์การเรียนเอกเทศ  เป็นการจัดศูนย์การเรียนที่แยกเป็นอิสระจากห้องเรียน ซึ่งนิยมจัดเป็น  ลักษณะ คือ
                                2.2.1   ศูนย์การเรียนสำหรับครู  เป็นห้องปฏิบัติการวิธีสอน  สำหรับสถาบันฝึกหัดครูเพื่อให้นักศึกษาครูได้ทดลองใช้สื่อและวิธีการต่าง ๆ ให้เกิดความมั่นใจก่อนออกไปสอนจริง  ศูนย์การเรียนสำหรับครูแบ่งออกเป็น   2   ส่วน คือ ศูนย์การผลิต   ซึ่งมีวัสดุอุปกรณ์ต่าง  ๆ  สำหรับปฏิบัติการผลิตสื่อการสอน  กับห้องปฏิบัติการสอน  สำหรับทดลองใช้วิธีสอนและสื่อที่ผลิตขึ้นมา
                                2.2.2   ศูนย์วิชาการ  เป็นศูนย์การเรียนสำหรับนักเรียนที่จัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนเข้าศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองในสาขาวิชาที่สนใจ โดยวิธีประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ตามโปรแกรมการสอนที่จัดไว้ในรูปของชุดการสอนรายบุคคล
                                2.2.3   ศูนย์การเรียนชุมชน  เป็นสถานศึกษาระบบเปิดที่เปิดโอกาสให้บุคคลทุกเพศทุกวัยเข้าศึกษาเรื่องที่สนใจจากโปรแกรมการสอนที่จัดไว้ในรูปของชุดการสอนรายบุคคลในศูนย์ต่าง ๆ เช่น  ศูนย์งานช่าง  ศูนย์เกษตร  ศูนย์ดนตรี  ฯลฯ  ศูนย์การเรียนชุมชนจัดตั้งขึ้นในชุมชนเพื่อให้สมาชิกในหมู่บ้านได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้อย่างสะดวก  โดยทั่ว ๆ ไปศูนย์การเรียนชุมชนจะประกอบด้วยศูนย์การเรียน  ประเภทใหญ่  ๆ  คือ    ศูนย์เด็ก    ศูนย์การศึกษาระดับมูลฐานและศูนย์การศึกษาอาชีพ

            3.   การสอนแบบศูนย์การเรียน

                การสอนแบบศูนย์การเรียน  เป็นการจัดสภาพห้องเรียนรูปแบบใหม่ที่เน้นให้ผู้เรียน
ประกอบกิจกรรมในการเรียนด้วยตนเองตามโปรแกรมการสอนที่จัดไว้ในศูนย์กิจกรรมต่าง ๆ
                วิธีการเรียนในศูนย์การเรียน  ทำโดยแบ่งผู้เรียนออกเป็น  4 – 6  กลุ่ม    แล้วจัดให้
ผู้เรียนแต่ละกลุ่มเรียนจากโปรแกรมการสอนที่จัดไว้ตามโต๊ะ  ซึ่งเรียกว่า ศูนย์กิจกรรม ในแต่
ละศูนย์ผู้เรียนจะต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามลำดับที่ระบุไว้ในคำสั่ง  ซึ่งใช้เวลาศูนย์ละประมาณ
15 – 25 นาที  เมื่อเสร็จแล้วจะมีการเปลี่ยนศูนย์กิจกรรมไปจนครบทุกศูนย์  เพื่อให้ผู้เรียนได้
เนื้อหาครบถ้วน

4.   ขั้นตอนการเรียนในศูนย์การเรียน



                ในการสอนแบบศูนย์การเรียน  ครูมีบทบาทเป็นเพียงผู้ประสานงาน  ดูแล  และกระตุ้นการเรียนของผู้เรียน โดยอาศัยชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรมเป็นสื่อการสอนหลัก  ขั้นตอนโดยทั่วไปของการเรียนแบบศูนย์การเรียนมีลำดับดังนี้
                       4.1   ทดสอบก่อนเรียน  เพื่อวัดความรู้เดิมของผู้เรียน  โดยใช้แบบทดสอบที่มีอยู่ในชุดการสอนประมาณ 5 – 10 นาที
        4.2   นำเข้าสู่บทเรียน  เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เรียน  ทั้งนี้อาจใช้วิธีบรรยายแสดงละคร เล่าเรื่อง  ถามปัญหา  หรือใช้สื่อการสอนต่าง ๆ พร้อมทั้งอธิบายให้ผู้เรียนทราบลักษณะของศูนย์กิจกรรมต่าง ๆ อย่างคร่าว ๆ ประมาณ  10 – 15 นาที
                       4.3  ดำเนินกิจกรรมการเรียนโดยแบ่งกลุ่มผู้เรียนตกลงความรับผิดชอบแล้วให้ผู้เรียนอ่านบัตรคำสั่ง และปฏิบัติกิจกรรมตามลำดับขั้น แล้วสับเปลี่ยนกลุ่มกิจกรรมให้ครบทุกศูนย์  กิจกรรม  ศูนย์ละประมาณ 15 – 20 นาที   ในการเปลี่ยนศูนย์กิจกรรม     ถ้าทุกกลุ่มเสร็จพร้อมกันให้ใช้วิธีหมุนเวียนจากศูนย์ที่ 1 ไปศูนย์ที่ 2, 3, 4  ตามลำดับ  หรือสับเปลี่ยนกันเป็นคู่  ๆ  ก็ได้    แต่ถ้ามีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสร็จก่อนเพียงกลุ่มเดียว     ครูจะต้องให้กลุ่มนั้นไปทำกิจกรรมในศูนย์สำรอง   ซึ่งจัดเตรียมไว้สำหรับให้ผู้เรียนที่เรียนเร็วมาประกอบกิจกรรม   รอจังหวะที่ศูนย์อื่น  ๆ  จะว่างลง
       4.4    สรุปบทเรียน  เมื่อผู้เรียนทุกกลุ่มทำกิจกรรมเสร็จครูก็ช่วยสรุปบทเรียนอีกครั้งหนึ่งประมาณ  5 -  10 นาที อาจใช้วิธีบรรยายประกอบสื่อการสอน  อภิปราย  ซักถาม  หรือวิธีอื่น ๆ ก็ได้
       4.5    ประเมินผลการเรียน  โดยให้ทำแบบทดสอบหลังเรียน  เพื่อนำผลไปเปรียบเทียบกับการทดสอบก่อนเรียนให้ทราบถึงความก้าวหน้าของผู้เรียน  และประสิทธิภาพของชุดการสอน

            5.   ประโยชน์ของศูนย์การเรียน

                ศูนย์การเรียนมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนดังนี้
       5.1   สร้างบรรยากาศในการเรียนและเพิ่มความสนใจของผู้เรียน
       5.2   ส่งเสริมให้ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง
       5.3   ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
       5.4   ส่งเสริมการทำงานเป็นหมู่คณะ  เคารพในความคิดเห็นของคนอื่น
       5.5   ครูได้ใกล้ชิดกับนักเรียนอย่างทั่วถึง
       5.6   ครูตื่นตัวตลอดเวลาทั้งในการค้นคว้าหาความรู้  หากิจกรรม  และสื่อการสอน
       5.7   ผู้อื่นก็สามารถสอนแทนครูได้
       5.8   ห้องเรียนมีระเบียบเพราะผู้เรียนตั้งใจและสนใจทำกิจกรรม
       5.9   เหมาะสำหรับการเรียนการสอนทุกระดับ  โดยเฉพาะการฝึกหัดครู
       5.10 ใช้สอนผู้เรียนได้เป็นจำนวนมาก  ถ้ามีชุดการสอนเพียงพอ


การสอนแบบจุลภาค

                การสอนแบบจุลภาค(Micro  Teaching) เป็นการสอนในสถานการณ์ของห้องเรียนจริงที่จัดให้มีลักษณะย่นย่อทั้งเวลา  จำนวนนักเรียน  ขนาดของงาน  และทักษะการสอน  เพื่อเปิดโอกาสให้ครูได้ฝึกทักษะต่าง ๆ ที่ได้เห็นตัวอย่างมาแล้ว  ในการสอนแบบจุลภาคจะมีนักเรียน 3 – 10 คน   ใช้เวลาสอน 5 – 10 นาที   ในขณะสอนจะมีการบันทึกเทปโทรทัศน์ หรือเทปบันทึกเสียง  เพื่อให้ครู ผู้สอนได้มีโอกาสฟังหรือเห็นตนเองได้อีกทีหลัง  ทำให้ทราบข้อดีและข้อควรปรับปรุง  เพื่อจะได้แก้ไปรับปรุงให้ดีเสียก่อนที่จะนำไปสอนจริง


            1.   หลักการที่เกี่ยวข้องกับการสอนแบบจุลภาค

            หลักการที่เกี่ยวข้องกับการสอนแบบจุลภาคมีดังนี้
                     1.2   การเสริมแรง (reinforcement) เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้  การที่ผู้เรียนได้เห็นพฤติกรรมของตัวเองจากเทปโทรทัศน์จะเป็นการเสริมแรงอีกทางหนึ่ง   และจะช่วยให้ผู้สอนมีกำลังใจและมั่นใจในการสอนมากยิ่งขึ้น
       1.3   การรับรู้ผลป้อนกลับ (feed backในการสอนแบบจุลภาค  ผู้สอนจะได้รับทราบผลการสอนของเขาเองจากหลาย ๆ ทาง เช่น จากผู้เรียน   เพื่อน  อาจารย์นิเทศก์ และได้เห็นตัวเอง  จากเทปโทรทัศน์สามารถปรับปรุงตนเองในครั้งต่อไปได้ง่ายขึ้น
       1.4   การฝึกซ้ำหลาย ๆ ครั้ง (law of exercise)  เป็นสิ่งจำเป็นในการสอนแบบจุลภาคเพราะจะทำให้ผู้สอนเกิดความชำนาญและสามารถนำไปใช้จริง ๆ ได้ง่าย
       1.5  การถ่ายโยงการเรียนรู้ (transfer of learning) เนื่องจากการสอนแบบจุลภาคเป็นการสอนที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงแต่ย่อส่วนมาจึงทำให้ผู้ฝึกสอนได้เห็นขั้นตอนและขบวน การทั้งยังทำให้มีความชำนาญพอที่จะนำไปใช้ในการสอนจริงได้

            2.   ขั้นตอนของการสอนแบบจุลภาค

                       การสอนแบบจุลภาคให้ได้ผลดีควรมีขั้นตอนดังนี้
       2.1    ขั้นศึกษาทักษะที่ต้องการฝึก  เป็นขั้นที่ผู้เรียนเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะที่ต้องการฝึกจากการอ่านตำรา และดูจากแบบจำลองทักษะ  ซึ่งอาจใช้วิธีสาธิต  ดูภาพยนตร์  หรือเทปบันทึกภาพก็ได้  แบบจำลองทักษะจะเน้นให้เห็นวิธีการในการฝึกทักษะใดทักษะหนึ่งโดยเฉพาะ
                     2.2    ขั้นเลือกเนื้อหาและวางแผนการสอน    เมื่อผู้เรียนได้เห็นตัวอย่างจากแบบจำลองการฝึกแล้วก็จะเลือกเนื้อหาหรือทักษะที่จะฝึกสอนแบบจุลภาคแล้ววางแผนการสอน โดยเตรียมทำบันทึกการสอนเช่นเดียวกับการสอนตามปกติ กำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม วิเคราะห์กิจกรรมและหาวิธีดำเนินการสอนให้บรรลุเป้าหมาย
       2.3    ขั้นสอน  ผู้สอนจะสอนพร้อมกับมีการบันทึกเทปโทรทัศน์  ในขณะเดียวกันก็จะมีอาจารย์นิเทศก์กับเพื่อน ๆ  เป็นผู้สังเกตอยู่ด้วย
                       2.4    ขั้นวิเคราะห์ผลการสอน  เป็นการให้ผู้สอนได้รับทราบผลการสอน  โดยดูเทปโทรทัศน์หรือฟังเสียงจากเทปบันทึกเสียงเพื่อรับรู้พฤติกรรมของตนเองหรืออาจได้จากความคิดเห็นของผู้เรียน  และอาจารย์นิเทศก์
       2.5   ขั้นตัดสินใจ  เป็นขั้นที่อาจารย์นิเทศก์และผู้สอนตัดสินใจร่วมกันว่าผลการกระทำน่าพอใจหรือไม่  ถ้าพอใจก็เป็นการจบกระบวนการฝึกทักษะนั้น ๆ แล้ว   ถ้าไม่พอใจก็จะได้พิจารณาว่าควรปรับปรุงอะไรบ้าง  เพื่อเตรียมการสอนใหม่
                       2.6   ขั้นทดลองกับนักเรียนกลุ่มอื่น ๆ เพื่อจะได้หาข้อบกพร่องมาปรับปรุงแก้ไขและสอนซ้ำในกรณีที่ผลที่ได้ยังไม่น่าพอใจ

3.   ทักษะการสอนแบบจุลภาค



                       ทักษะการสอนที่นำมาใช้ในการฝึกสอนแบบจุลภาค  เป็นทักษะที่มุ่งพัฒนาประสิทธิ ภาพในการสอนของครู  ทั้งในลักษณะที่ยึดครูเป็นศูนย์กลาง  และนักเรียนเป็นศูนย์กลาง

       3.1  ทักษะสำหรับครูเป็นศูนย์กลาง  ได้แก่
        3.1.1   ทักษะการนำเข้าสู่บทเรียน
        3.1.2   ทักษะการใช้สื่อการสอน
        3.1.3   ทักษะการใช้คำถาม
        3.1.4   ทักษะการอธิบาย
        3.1.5   ทักษะการเล่าเรื่อง
        3.1.6   ทักษะการยกตัวอย่าง
        3.1.7   ทักษะการใช้กระดาษชอล์ค
        3.1.8   ทักษะการเร้าความสนใจ
        3.1.9   ทักษะการเสริมกำลังใจ
        3.1.10 ทักษะการสรุปบทเรียน

       3.2   ทักษะสำหรับผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  ได้แก่
        3.2.1   ทักษะการสอนแบบศูนย์การเรียน
        3.2.2   ทักษะการสอนให้ผู้เรียนทำงานตามลำพัง

4.   ข้อดีและข้อจำกัดของการสอนแบบจุลภาค

       4.1   ข้อดี
                4.1.1   ใช้ในการทดลองสอนและปรับปรุงวิธีการสอน
                4.1.2   ใช้ทดลองสอนเพื่อปรับปรุงเนื้อหาในหลักสูตร
                4.1.3   ใช้ฝึกทักษะและสมรรถภาพในการสอนให้กับครูและนักเรียนฝึกหัดครู
                4.1.4   ช่วยให้อาจารย์นิเทศปรับปรุงวิธีสอนของตน
                4.1.5   เปิดโอกาสให้ผู้สอนได้ทดลองสอนจนพอใจ
                4.1.6   ลดความยุ่งยากสับสนและความกังวลของผู้สอนในชั้นเรียนจริง  เพราะการสอนแบบจุลภาคเป็นกิจกรรมที่ย่นย่อทั้งขนาด  เนื้อหา  และเวลา
       4.2   ข้อจำกัด
                4.2.1   ผู้ฝึกไม่ได้พบกับสภาพห้องเรียนจริง  ซึ่งอาจทำให้สอนได้ไม่เต็มที่  ถ้าเขาไม่มีความสามารถในการถ่ายโยงการเรียนรู้ได้
                4.2.2   การสอนแบบจุลภาคใช้ประกอบการฝึกสอน  แต่ไม่ใช่แทนการฝึกสอน  เพราะการสอนแบบจุลภาคเน้นการฝึกทักษะเฉพาะอย่าง  ให้เกิดความชำนาญก่อนออกฝึกสอนจริง

การสอนเป็นคณะ

                การสอนเป็นคณะ(Team Teaching) เป็นวิธีดำเนินการสอนแบบใหม่  เน้นการใช้บุคลากรให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น     โดยจัดให้ครูตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันวางแผน  จัดกิจกรรมการสอน  ประเมินผล และร่วมกันรับผิดชอบในการสอนเด็กกลุ่มเดียวกันในเนื้อหาวิชาตอนใดตอนหนึ่งหรือทุกตอนก็ได้

            1.   ความมุ่งหมายของการสอนเป็นคณะ

                       การสอนเป็นคณะอาจใช้ได้ทั้งในระดับประถมศึกษา  มัธยมศึกษา  และอุดมศึกษา  สาเหตุสำคัญที่ได้มีการใช้วิธีสอนเป็นคณะ  คือ
                       1.1   ปรับปรุงประสิทธิภาพของการสอน  ให้นักเรียนมีโอกาสได้รับความรู้ความคิด เห็นและประสบการณ์จากครูหลายคน  ไม่ต้องซ้ำซากจำเจอยู่กับครูคนเดียว
       1.2   สิ่งเสริมการดำเนินชีวิตแบบประชาธิปไตย  ให้นักเรียนร่วมมือกันในการทำงาน  ด้วยตัวเอง   เน้นความสำคัญที่ผู้เรียน  โดยครูทุกคนร่วมกันวางแผน  สอน  และประเมินผล
                     1.3   มีเวลาให้ผู้เรียนมาก   โดยใช้เวลาทั้งหมดของครูให้ผูกพันกับการสอนและการจัดประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน  และจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการสอนอย่างพร้อมมูล
       1.4   แก้ปัญหาจำนวนนักเรียนในห้องเรียน เช่น  ใช้วิธีแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อให้นักเรียนได้รับการดูแลจากครูผู้สอนอย่างทั่วถึง
                     1.5 ส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ช่วยให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะและแนวคิดที่หลากหลายเป็นความคิดสร้างสรรค์  และความรับผิดชอบ
       1.6   แก้ปัญหาความไม่ยุติธรรม   โดยเฉพาะในการจัดชั่วโมงสอนของครู



2.   รูปแบบของการสอนเป็นคณะ

       การสอนเป็นคณะเป็นการสอนที่ใช้กับนักเรียนตั้งแต่ 40 – 300 คน โดยใช้ครู 5 – 7 คน
ทำการสอนโดยจัดรูปแบบต่าง ๆ กัน คือ
       2.1   แบบมีผู้นำคณะ (Team Leader Type) ในคณะของผู้สอนจะมีการเลือกคนใดคน หนึ่งขึ้นเป็นหัวหน้า  ทำหน้าที่ประสานงาน  และวางแผนในการดำเนินการสอน
       2.2   แบบไม่มีผู้นำคณะ (Associate Type) ครูทุกคนเป็นผู้ร่วมงานมีฐานะเท่ากัน แบ่งสรรความรับผิดชอบในการดำเนินการ โดยถือเอาตามความถนัดและความสามารถของแต่ละบุคคล
       2.3   แบบครูพี่เลี้ยง (Master Teacher-Beginning Teachers Types) มีคณะครูเท่ากับครูใหม่ทำงานร่วมกัน  โดยครูเก่าที่มีประสบการณ์จะทำหน้าที่คล้ายครูพี่เลี้ยง  ในการดำเนินการสอนให้เป็นตัวอย่างแก่ครูใหม่

            3.   วิธีดำเนินการสอน

                       การดำเนินการสอนแบบเป็นคณะ  อาจจัดนักเรียนออกเป็นกลุ่ม  ขนาดต่าง ๆ กันตาม
ความเหมาะสม  เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นที่น่าสนใจคือ
       3.1   การสอนเป็นกลุ่มใหญ่  มีนักเรียนประมาณ 50 – 200 คน  เป็นการสอนเพื่อให้เกิด
ความคิดรวบยอด   และความเข้าใจแก่นักเรียนพร้อม ๆ กัน    อาจใช้สื่อการสอนประเภทสไลด์
       3.2   การสอนเป็นกลุ่มเล็ก  แบ่งกลุ่มโดยยึดความสามารถของนักเรียนเป็นเกณฑ์ ให้มี
กลุ่มละไม่เกิน 15  คน  และมีการสับเปลี่ยนกลุ่มอยู่เสมอ ๆ เพื่อให้นักเรียนมีความรับผิดชอบในการอภิปรายและแสดงบทบาทในการแก้ปัญหา
       3.3   การค้นคว้าด้วยตนเอง  เป็นกิจกรรมที่จัดเพื่อให้เกิดความคิดริเริ่ม  สร้างสรรค์การสอนเป็นคณะ จะสามารถดำเนินการสอนได้ผลเต็มที่ได้เมื่อมีการจัดแบ่งกลุ่มทั้งสามแบบสลับ กันตามความเหมาะสม

                4.   ข้อดีและข้อจำกัดของการสอนเป็นคณะ

                การสอนแบบเป็นคณะมีข้ดีและข้อจำกัดดังนี้
                       4.1   ข้อดี
                4.1.1   ครูมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านวิชาการซึ่งกันและกันมากขึ้น
                4.1.2   ครูใช้ความถนัดและความสามารถของตนเองได้อย่างเต็มที่ 
                4.1.3   เป็นการสนับสนุนให้มีการใช้สื่อเรียนการสอนมากขึ้น
                4.1.4   ครูใหม่มีโอกาสได้ฝึกงานให้เกิดความชำนาญ
                4.1.5   ความต่อเนื่องของการเรียนการสอนมีมากขึ้น
                4.1.7   ลดความซ้ำซาก  จำเจ  ที่ผู้เรียนต้องเรียนกับครูคนเดียว
                4.1.8   นักเรียนได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า    ในการฝึกฝนให้รู้จักรับผิดชอบ คือมีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับบุคคลอื่นซึ่งอาจเป็นกลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็ก สามารถเลือกทำกิจกรรมตามความสนใจและความถนัดของตนเองได้

       4.2   ข้อจำกัด
               4.2.1   ต้องเสียเวลาในการเตรียมงานมาก
                4.2.2 จากการวิจัยพบว่าการสอนจะได้ผลดีที่สุด เมื่อได้ทำการสอนในห้องที่จัด เตรียมไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ
                4.2.3    ความสำเร็จขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบ  และความร่วมมือของครู
                4.2.4   เครื่องอำนวยความสะดวกในห้องเรียนต้องมีมากพอ  แม้จะใช้กับนักเรียนกลุ่มใหญ่   กลุ่มเล็ก  และรายบุคคลก็ตาม
                4.2.5    มีปัญหาในเรื่องการจัดตารางสอนให้ครูผู้สอนได้มีเวลาวางแผนร่วมกัน
                4.2.6   การเลือกผู้นำกลุ่มในการอภิปรายจะต้องคำนึงถึงความสามารถต่าง ๆ ด้วย เพราะผู้นำที่ดีจะต้องสามารถใช้คำถามกระตุ้นให้สมาชิกในกลุ่มแสดงความคิดเห็น ทั้งต้องมีความรู้ดี  ใจกว้าง  และมีความยุติธรรมด้วย

คอมพิวเตอร์ช่วยสอน

                คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI: Computer – Assisted Instruction) เป็นสื่อการเรียนรู้ชนิดหนึ่งที่ได้รับการออกแบบให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง  โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในออกแบบบทเรียน ซึ่งสามารถสร้างกระตุ้นความสนใจผู้เรียนได้ดีด้วยภาพนิ่ง  ภาพเคลื่อนไหว  เสียง  รวมถึงผลพิเศษต่าง ๆ ที่ครูผู้สอนหรือคณะผู้ออกแบบการเรียนการสอนวางแผนไว้

การสอนทางไกล
               
                การสอนทางไกล(distance education) เป็นระบบการเรียนการสอนที่ผู้เรียนกับผู้สอนไม่ ได้อยู่สถานที่เดียวกันไม่สามารถสื่อสารกันได้โดยตรง  ต้องอาศัยเครื่องมือสื่อสารเป็นพาหะในการถ่ายทอดความรู้  ประสบการณ์  และกิจกรรมต่าง ๆ ไปสู่ผู้เรียน  ซึ่งอาจมีเพียงคนเดียว  เป็นกลุ่มเล็ก   หรือกลุ่มใหญ่ก็ได้
                การสอนแบบทางไกล  เป็นระบบการเรียนการสอนที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างเข้ามาสนับสนุนซึ่งกันและกัน เช่น  ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์   ระบบดาวเทียม  เอกสารต่าง ๆ รวมถึงกระบวนการขั้นตอนในการปฏิบัติตามแผนการสอนที่มีการออกแบบการสอน (instructional  design) ไว้เป็นอย่างดีแล้ว  ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการจัดการเรียนการสอนทางไกลมาตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1850  จนถึงปัจจุบัน  โดยแบ่งออกเป็นยุค  ๆ


การศึกษาผ่านอินเตอร์เน็ต


                ศูนย์การศึกษาทางไกลของสหรัฐอเมริกา (American  Center  for  the  Study  of  Distance  Education : ACSDE) ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพ็นซิลวาเนีย (Pennsylvania  State  University) ได้อธิบายความหมายของการศึกษาผ่านทางอินเตอร์เน็ต  หรือ  Web-Based  Education  ไว้ว่า  เป็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบทางไกลชนิดหนึ่ง  ซึ่งการนำเสนอเนื้อหา  และการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน  เกิดจากการประยุกต์ใช้อินเตอร์เน็ตเทคโนโลยี
                เมื่อเปรียบเทียบกับการเรียนการสอนทางไกลชนิดอื่นแล้ว  รูปแบบของการเรียนการสอนชนิดนี้มีการผสมผสานสื่อหลากหลายชนิดเข้าด้วยกัน  เช่น  ภาพนิ่ง  ภาพเคลื่อนไหว  ภาพยนตร์  เสียง  ฯลฯ  อีกทั้งยังเอื้ออำนวยให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน  ทั้งที่ในเวลาจริง  หรือต่างเวลากัน  การเรียนการสอนชนิดนี้ทำให้ต้องมีการประสานกัน(collaborative environment)ทั้งผู้เรียนและผู้สอนสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลชนิดหลายสื่อทางไกลได้ 
                ในบางขณะผู้เรียนอาจต้องการเข้าถึงแหล่งข้อมูล  เพื่อเรียนรู้แบบที่ผู้เรียนสามารถควบคุมจังหวะการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (self-paced  learning) ทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ยืดหยุ่นแก่ผู้เรียน
                นอกจากนี้การเรียนการสอนชนิดนี้ยังช่วยกำจัดข้อจำกัดด้านเวลา  และระยะทางแก่ผู้เรียน  นั่นหมายถึงผู้เรียนสามารถเข้ามาเรียนรู้เนื้อหาวิชาได้  จากที่ใดก็ได้ในเวลาใดก็ได้

การเรียนการสอนแบบอี เลอร์นนิ่ง

                อี เลอร์นนิ่ง (e – learning) เป็นรูปแบบการเรียนการสอนผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต  โดยอาศัยรูปแบบหรือชนิดของปฏิสัมพันธ์ (interaction)

            1.   รูปแบบหรือชนิดของปฏิสัมพันธ์

                       รูปแบบของปฏิสัมพันธ์แบ่งออกเป็น  2  ลักษณะหลัก ๆ คือ
                       1.1   รูปแบบการเรียนการสอนแบบซิงโครนัส (Synchronous  Learning  Method) หมายถึงการนำเสนอองค์ความรู้ รวมถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน  หรือ ผู้เรียนกับผู้เรียนด้วยกัน  เกิดขึ้นในเวลาจริงเป็นเวลาเดียวกันพร้อมกัน  ลักษณะการเรียนการสอนแบบนี้ได้แก่  การใช้การถ่ายทอดสดภาพวีดิทัศน์และเสียง (video conference) หรือระบบ  online chat  ไม่ว่าจะเป็นภาพ  เสียง หรือตัวอักษร  การปฏิสัมพันธ์จะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน
                       1.2  รูปแบบการเรียนการสอนแบบอะซิงโครนัส(Asynchronous  Learning  Method) หมายถึง  การนำเสนอองค์ความรู้  หรือการเรียนการสอนผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ตที่ผู้เรียนกับผู้สอนไม่จำเป็นต้องใช้เวลาตรงกัน  ตัวอย่างรูปแบบการเรียนการสอนแบบนี้  ได้แก่  การเรียนรู้ทางเว็บเพจ  การปฏิสัมพันธ์อาจเกิดขึ้นโดยการใช้กระดานอิเล็กทรอนิกส์ (webboard) หรือการใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e – mail) เป็นต้น
                                โครงข่ายการเรียนอะซิงโครนัส  หมายถึง โครงข่ายของกลุ่มผู้เรียนที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการเรียนการสอนแบบที่ใดก็ได้ในเวลาใดก็ได้ (anywhere  anytime  learning) โดยการติดต่อสื่อสารผ่านทางอุปกรณ์คอมพิวเตอร์  และเทคโนโลยีสื่อสารอื่น ๆ เพื่อเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนระยะไกล  หรือเพื่อปฏิสัมพันธ์กับอาจารย์ผู้สอนหรือผู้เรียนคนอื่น โดยไม่จำเป็นต้องออนไลน์  ในเวลาเดียวกัน  สื่อการเรียนการสอนระบบ ALN ที่นิยมมากที่สุดคือ  World  Wide  Web การเรียนการสอนแบบ ALN จึงเป็นการผนวกการเรียนรู้ด้วยตนเอง (self-study)  กับระบบการเรียนแบบปฏิสัมพันธ์อะซิงโครนัส
                                จากคำจำกัดความเช่นนี้  ทำให้ระบบการเรียนการสอนแบบ ALN จำเป็นต้องมีระบบที่เอื้อให้เกิดการถาม ตอบ และปฏิสัมพันธ์กันทางออนไลน์ เช่น การใช้กระดานถาม ตอบอิเล็กทรอนิกส์  ดังนั้นการเรียนการสอนระบบนี้บางขณะอาจยังจำเป็นต้องมีการติดต่อสื่อสารแบบซิงโครนัส (ในเวลาเดียวกัน) อยู่บ้าง  เช่นการพบปะกันครั้งแรกในชั้นเรียน  การทดสอบ  การประชุมกลุ่ม หรือการพบปะพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักศึกษาร่วมชั้น ซึ่งเหตุ การณ์เหล่านี้อาจเกิดขึ้นในลักษณะออนไลน์  หรือในลักษณะพบกันจริง ๆ ก็ได้
                                โดยปกติแล้ว  ระบบการเรียนการสอนแบบ ALN จะไม่รวมกระบวนวิชาที่มีลักษณะเป็นการถ่ายทอดสดระบบภาพวีดิทัศน์หรือเสียงเป็นหลัก  เนื่องจากระบบการเรียนการสอนแบบถ่ายทอดสดผู้เรียนและผู้สอนทั้งหมดจำเป็นต้องใช้เวลาที่ตรงกันทุกครั้ง  เช่น  การร่วมกิจกรรมที่มีการบรรยาย   การสาธิต  การทดลอง  เป็นต้น  นอกจากนี้ระบบการเรียนการสอนที่ใช้เทปโทรทัศน์หรือการส่งเนื้อหาทางไปรษณีย์เป็นหลักไม่จัดเป็นการเรียนการสอนแบบ ALN ไม่เกิดปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนหรือระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนคนอื่น ๆ

            2.  วัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนแบบอี เลอร์นนิ่ง

                       การเรียนการสอนในรูปแบบอี เลอร์นนิ่ง  มีวัตถุประสงค์พอสรุปได้  3  ระดับคือ
                       2.1  เป็นส่วนเสริม (Supplementary) ระดับนี้เนื้อหาข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกนำเสนอออนไลน์สามารถค้นพบได้ในรูปแบบอื่น  โดยไม่ได้เป็นแกนหลักของการเรียนการสอน  เนื้อหาหรือสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บนออนไลน์จะทำหน้าที่เป็นทางเลือกทางการศึกษาแก่ผู้เรียนอีกทางหนึ่ง  เพื่อเป็นการขยายโอกาสให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์เพิ่มขึ้น
                       2.2 เป็นองค์ประกอบ (Complementary) ระดับนี้เป็นการเพิ่มสื่อออนไลน์เข้าไปกับวิธี การนำเสนออื่น ๆ เช่น  การใช้สื่อออนไลน์ในชั้นเรียนปกติ  โดยเนื้อหาข้อมูลบนออนไลน์จะถูกจัดเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่ผู้เรียนจะต้องเข้าไปเรียนรู้ หน้าที่สำคัญของสื่อระดับนี้คือให้ประสบการณ์การเรียนรู้แก่ผู้เรียน ทำให้เรียนรู้เนื้อหาบทเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                       2.3  เป็นการทดแทนสมบูรณ์แบบ (Comprehensive Replacement) ระดับนี้การนำเสนอแบบออนไลน์จัดว่าเป็นรูปแบบหลักของการเรียนการสอน  โดยใช้ระบบนี้ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวน การทั้งหมด  อย่างไรก็ตามอาจใช้สื่อหรือวิธีการอื่น ๆ เข้ามาร่วมเสริมเพื่อให้การเรียนรู้มีประสิทธิ ภาพยิ่งขึ้นก็ได้  เช่น  สิ่งพิมพ์ หรือการทดลองในห้องปฏิบัติการ  เป็นต้น  หน้าที่ของสื่อออนไลน์ในระดับนี้คือเป็นกระบวนการเรียนการสอนเนื้อหาวิชาใดวิชาหนึ่งอย่างสมบูรณ์

บทสรุป

                นวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยวิธีแปลกใหม่แตกต่างไปจากเดิม  ผู้เรียนสามารถเลือกวิธีเรียน  เวลาเรียน   สถานที่เรียน   และประเมินผลได้ด้วยตนเอง  นวัตกรรมที่นำมาใช้ทางการศึกษามีหลายชนิด  เช่น  บทเรียนโปรแกรม   ชุดการสอน  ศูนย์การเรียน  การสอนแบบจุลภาค   การสอนเป็นคณะ   การสอนทางไกล   การศึกษาผ่านอินเตอร์เน็ตและการเรียนการสอนแบบอี เลอร์นิ่ง   เป็นต้น     นวัตกรรมแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่เป็นข้อดีและข้อจำกัด  จึงควรศึกษารายละเอียดให้เข้าใจก่อนนำไปใช้
               

หนังสืออ้างอิง

ชุณหพงศ์    ไทยอุปถัมภ์. ( 2545 ).  “E-Learning” DVM (Digital  Video  &  Multimedia 
         Magazine )  3  (12 ),  26 28.
เปรื่อง   กุมุท. ( 2519 ).  เทคนิคการเขียนบทเรียนโปรแกรม.  อัดสำเนา.

                            




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คำถามทบทวน

1. บทเรียนโปรแกรมคืออะไร จงอธิบายให้เข้าใจ

2. จงอธิบายคุณค่าและชนิดของบทเรียนโปรแกรม

3. จงบอกข้อดีและข้อจำกัดของบทเรียนโปรแกรมอย่างน้อย 5 ข้อ

4. ชุดการสอนคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร

5. ทฤษฎีทางจิตวิทยาใดที่ก่อให้เกิดชุดการสอน

6. จงบอกประเภท และองค์ประกอบของชุดการสอนอย่างน้อย 5 ข้อ

7. จงอธิบายถึงลักษณะและประเภทของศูนย์การเรียนให้เข้าใจ

8. ศูนย์การเรียนมีประโยชน์อย่างไร และมีขั้นตอนการเรียนอย่างไร

9. จงบอกความหมาย หลักการ และขั้นตอนของการสอนแบบจุลภาคให้ถูกต้อง

10. จงบอกประโยชน์และข้อจำกัดของการสอนแบบจุลภาค อย่างน้อย 3 ข้อ

11. จงบอกความมุ่งหมายและรูปแบบของการสอนเป็นคณะให้เข้าใจ

12. จงบอกวิธีดำเนินการสอนเป็นคณะให้ถูกต้อง

13. จงบอกประโยชน์และข้อจำกัดของการสอนเป็นคณะอย่างน้อย 3 ข้อ

14. การสอนทางไกลหมายถึงอะไร

15. การศึกษาผ่านอินเตอร์เน็ตกับการเรียนการสอนแบบอี-เลอร์นิ่งต่างกันอย่างไร